คำขวัญประจำจังหวัดลำปาง
ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนามงามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก

ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดลำปาง


จังหวัดลำปาง เป็นแหล่งอารยธรรมล้านนาไทยที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าจังหวัดใดๆ ชาวลำปางมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย คงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง วัดวาอารามและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น รถม้าพาหนะคู่เมือง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่คงความบริสุทธิ์สวยงาม มีอุทยานแห่งชาติที่มีการจัดการที่ดี และควบคู่กันไปกับเมืองที่เคยเป็นแหล่งทำไม้ในอดีต ช้างที่เคยทำหน้าที่ลากซุงจึงเป็นสัตว์อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง เครื่องปั้นดินเผาที่ทำจากดินขาวขึ้นชื่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้นครลำปางกลายเป็นจุดหมายที่นักเดินทางมักแวะมาเยี่ยมชม


ประวัติความเป็นมา

แต่อดีตมาเมืองลำปาง มีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น ศรีดอนชัย ลัมภะกัมปะนคร เขลางค์นคร และกุกกุฏนคร (นครไก่) คำว่า ลำปาง นั้นหมายถึงไม้ป้าง ตำนานเล่าว่าเป็นไม้ข้าวหลามที่ลัวะอ้ายกอนใช้หาบกระบอกน้ำผึ้ง มะพร้าว มะตูม มาถวายพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จมายังบริเวณนี้ ก่อนจะปักไม้เอาทางปลายลงเกิดเป็นต้นขะจาวที่เห็นอยู่ข้างวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ต้นขะจาวนี้มีลักษณะผิดแผกจากไม้อื่นด้วยกิ่งก้านจะชี้ลงดิน เป็นไม้มงคลประจำจังหวัดลำปางที่มีอายุกว่า ๒,๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ส่วนคำว่า เขลางค์นคร เป็นภาษาบาลี ปรากฏอยู่ในตำนานตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓ คำว่าลครซึ่งกลายมาจากนคร จึงเป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกเมืองเขลางค์ ทั้งยังปรากฏใช้ในศิลาจารึกและพงศาวดารในรุ่นต่อมา ส่วนภาษาพูดจะออกเสียงว่าละกอน มีความหมายเดียวกับคำว่าเมืองลคร หรือ เวียงละกอน

นอกจากนี้บางตำนานยังเล่าว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกโปรดสัตว์มาจนถึงเมืองนี้ พระอินทร์ได้ทราบก็เกรงว่าชาวเมืองจะตื่นไม่ทันทำบุญกับพระพุทธองค์ จึงแปลงกายเป็นไก่สีขาวขันปลุกชาวเมืองให้ตื่นทันออกมาทำบุญตักบาตร ด้วยเหตุนี้เมืองลำปางจึงได้ชื่อว่า กุกกุฏนคร อันหมายถึงเมืองไก่ขาว ไก่ขาวจึงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่เราจะพบตามป้ายชื่อถนน บนสะพาน หรือตามตึกต่างๆแม้แต่ในชามตราไก่ที่ขึ้นชื่อ

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ของนครลำปางมากว่า ๓,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว มีการค้นพบภาพเขียนสีและโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ตลอดจนชิ้นส่วนภาชนะดินเผาในสมัยหริภุญไชย และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพงเวียงเมืองหรือเมืองเขลางค์นครเก่าตั้งอยู่ในบริเวณตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองปัจจุบัน ฝั่งเหนือของแม่น้ำวัง มีการพัฒนามาแล้วตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญไชยยังดำรงอยู่ เวียง คือ เมืองที่มีการกำหนดเขตรั้วรอบขอบชิด โดยการขุดคูน้ำและกำแพงดินล้อมรอบ เมืองเขลางค์นครนี้มีฐานะเป็นเมืองหลวงคู่แฝดของอาณาจักรหริภุญไชย มีพระเจ้าอนันตยศหนึ่งในพระราชโอรสแฝดของพระนางจามเทวีผู้ครองอาณาจักรหริภุญไชยเคยเสด็จมาปกครองนครแห่งนี้ มีพื้นที่เมืองประมาณ ๖๐๐ ไร่ และยังพบเวียงบริวารในอำเภอต่างๆ สำหรับเวียงบริวารที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด คือเวียงพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นเวียงทางพระพุทธศาสนา อยู่ที่อำเภอเกาะคาห่างจากตัวจังหวัดลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร สัณฐานของเวียงนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก มีร่องรอยของกำแพงดิน ๓ ชั้น ระหว่างกำแพงดินเป็นคูน้ำคู่ขนานโอบล้อมเวียงไว้ แต่ปัจจุบันคูน้ำคันดินได้ถูกไถแปรสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรมไปตามกาลเวลา จนแทบจะมองไม่ออกว่าเป็นลักษณะเวียง

เมืองเขลางค์นครแห่งอาณาจักรหริภุญไชยนี้ มีผู้ปกครองสืบต่อกันมาตลอด ก่อนที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรล้านนาของพระยามังรายที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำกกทางตอนเหนือในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พระยามังรายขยายอิทธิพลยกทัพล้ำเขตเข้ามาโจมตีอาณาจักรหริภุญชัย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้อันมีเขลางค์นครเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กัน ในที่สุดได้ยึดเมืองทั้งสองไว้ได้และ มีการแต่งตั้งผู้ครองนครขึ้น เป็นการเปลี่ยนวงศ์ผู้ครองเมืองมาเป็นสายของพระยามังราย ระหว่างนั้นได้สร้างเมืองเขลางค์นครขึ้นใหม่ในฐานะของเมืองหน้าด่าน ของอาณาจักรล้านนาสืบมา

อาณาจักรล้านาเจริญรุ่งเรืองอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็อ่อนแอลงและถูกพม่ายึดอำนาจได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๑ และตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ารวมระยะเวลานานถึง ๒๐๐ ปี แต่ในบางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณาจักรที่มีความเข้มแข็งอยู่ทางตอนใต้ ร่องรอยอดีตที่แสดงถึงการขยายแผ่อิทธิพลด้านศิลปกรรม คือ รูปแบบของศิลปที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวในสมัยที่พม่าครอบครองเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือตอนบนพม่าได้ส่งเจ้านายมาปกครองหัวเมืองต่างๆ โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครเชียงใหม่ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๒๗๕ ท้าวมหายศผู้ครอบครองเมืองหริภุญไชย ได้ยกทัพมาปราบผู้ที่คิดกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้เป็นอิสระจากพม่า ได้ตั้งทัพอยู่บริเวณเวียงธาตุลำปางหลวง ชาวเมืองได้ติดต่อกับหนานทิพย์ช้างพรานป่าผู้กล้าให้ช่วยกู้เอกราชให้แก่ลำปาง ในครั้งนั้นหนานทิพย์ช้างได้ยิงท้าวมหายศตายด้วยปืนใหญ่ ณ บริเวณวิหารหลวง ปัจจุบันหลังพระวิหารหลวงที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระเจดีย์ยังมีรอยรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่

ความเจริญของนครลำปางก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนกระทั่งในช่วงยุคทองช่วงหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๔๐ สมัยเจ้านรนันทชัยชวลิต เจ้าผู้ครองนครองค์ที่ ๙ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ นครลำปางมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ในฐานะของศูนย์กลางการค้าไม้สักภาคเหนือ โดยมีที่ตั้งอยู่บริเวณถนนตลาดเก่า ซึ่งมีอาคารพาณิชย์ ร้านค้า บ้านพักอาศัยของคหบดี ในสมัยนั้นโดยมากแล้วเป็นชาวพม่าที่เข้ามาทำธุรกิจค้าไม้ และได้ตั้งชุมชนที่ท่ามะโอ ณ ตำบลเวียงเหนือ ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงได้สร้างวัดแบบศิลปะพม่าไว้หลายแห่ง


 ศิลปะ

อาจเนื่องมาจากการปฏิสังขรณ์สืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย ศิลปะที่พบในจังหวัดลำปางจึงล้วนแต่เป็นศิลปะสมัยล้านนาไม่พบศิลปะสมัยหริภุญชัย ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่มักพบเห็นได้ตามวัดต่างๆ ในลำปาง มี 3 แบบ คือ แบบพม่า แบบพม่าผสมเชียงใหม่ และแบบล้านนา สถาปัตยกรรมแบบพม่า นั้นได้เข้ามามีอิทธิพลในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ซึ่งชาวพม่าได้เข้ามาผูกขาดการทำไม้ในภาคเหนือ และส่งไม้ไปขายยังภาคกลางและต่างประเทศ

ชาวพม่ามีคติอยู่ว่าเมื่อรวยแล้วต้องสร้างวัดหรือบูรณะวัดเก่าเพื่ออุทิศให้รุกขเทวดาที่อาศัยอยู่ในไม้ใหญ่อันถูกโค่นเพื่อเป็นการล้างบาป วัดแบบพม่าที่พบในลำปาง ได้แก่ วัดศรีชุม วัดป่าฝาง วัดม่อนจำศีล วัดม่อนปู่ยักษ์ และวัดศรีรองเมือง ซึ่งสร้างวิหารเป็นรูปยอดปราสาทแบบเดียวที่เมืองมัณฑะเลย์ในพม่า ดังเช่นวิหารใหญ่วัดศรีรองเมือง เป็นต้น เป็นวิหารจำหลักไม้ทำยอดหลังคาซ้อนเป็นชั้นๆ มีลวดลายจำหลักไม้ที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๖ เรียกว่าเรือนไทยติดลูกไม้ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า แบบขนมปังขิง (Ginger Bread) คือไม้ฉลุที่ชายคาเป็นลายย้อย ลูกไม้ช่องลมก็ฉลุปรุเป็นลายเช่นกันและยังมีลายฉลุตามส่วนต่างๆของอาคารอีกมากมาย เช่น ทางขึ้นวิหารวัดศรีชุม ฉลุลายใต้หน้าจั่วได้อย่างวิจิตร เป็นการอวดฝีมือของช่างฉลุในยุคนั้นว่าทำงานอย่างประณีต ซึ่งเป็นศิลปะพม่าผสมฝรั่งที่นิยมทำกันมากในภาคเหนือ

สถาปัตยกรรมแบบเชียงใหม่ ที่ลำปางจะเก่าแก่ยิ่งกว่าที่พบในเชียงใหม่ เพราะสถาปัตยกรรมไม้ในเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นจากรูปแบบเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม ส่วนที่ลำปางล้วนเป็นของเก่าทั้งสิ้น ดังเช่น วิหารน้ำแต้มที่วัดพระธาตุลำปางหลวง มีภาพเขียนรุ่นเก่าร่วมสมัยกับอยุธยา ประตูใหญ่ด้านหน้าวัดมีลวดลายปูนปั้นประดับเป็นศิลปะเชียงใหม่รุ่นเก่า ซุ้มประตูวัดไหล่หิน และ ประตูวัดบ้านเวียง กลางเมืองเถินในลำปาง ก็เป็นศิลปะแบบเชียงใหม่เช่นกัน และยังมีประตูวัดล้อมแรด ซึ่งเป็นศิลปะดั้งเดิมของล้านนาที่สมควรจะถนอมรักษาไว้อย่างดีที่สุดสถาปัตยกรรมแบบล้านนา พระวิหารหลวงวัดไหล่หิน และวัดปงยางคก เป็นพระวิหารรุ่นเก่าขนาดย่อม ลักษณะโปร่งด้านหน้าและด้านข้าง ส่วนด้านหลังทึบ ประดิษฐานมณฑปหรือพระพุทธรูป เป็นวิหารเก่าแก่ของล้านนาที่กะทัดรัดแต่งดงามน่าดูยิ่ง

สำหรับผู้ที่สนใจทางศิลปะ ควรจะแวะวัดลำปางหลวงและวัดพระแก้วดอนเต้า ซึ่งได้รวบรวมศิลปะวัตถุจากที่ต่างๆ และจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด ในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวงจะมีศิลปะวัตถุแบบล้านนาเป็นส่วนใหญ่ เช่น เครื่องเขิน ตะลุ่มแบบโบราณรูปทรงแปลกๆ สังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก และแบบจำลองปราสาทงานไม้รูปสัตว์ต่างๆ พิพิธภัณฑ์ของวัดพระแก้วดอนเต้าส่วนใหญ่มีรูปจำหลักไม้เทวดาและม้านั่งแปลกๆ ส่วนศิลปะล้านนามีแบบจำลองวิหารเจดีย์กับเตียงตั่งรูปและลายแปลกๆ


ภูมิศาสตร์

ลำปางมีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อเชียงรายและพะเยา ทิศใต้ติดต่อสุโขทัยและตาก ทิศตะวันออกติดต่อแพร่ และทิศตะวันตกติดต่อเชียงใหม่และลำพูน รวมเนื้อที่ทังหมด ๑๒,๕๓๓ ตารางกิโลเมตร ลำปางเป็นเมืองในหุบเขารูปแอ่งกระทะรายล้อมด้วยเทือกเขาสูงชัน บางส่วนผุดเป็นแนวหินแกรนิตบนเทือกเขาผีปันน้ำด้านตะวันตก ในบางยุคเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดแอ่งที่ราบขนาดใหญ่และทิวเขามากมายทับซ้อนกัน เมื่อผ่านกาลเวลามายาวนานส่วนที่เป็นแอ่งก็กลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เกิดการทับถมของตะกอนดินและซากพืชซากสัตว์จนเป็นผืนดินที่ราบ แหล่งน้ำมัน และถ่านหินลิกไนต์แทรกตัวอยู่ในอำเภอแม่เมาะ บริเวณตอนกลางของเมืองลำปาง

บริเวณที่ราบภูเขาสูงและที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่ราบดินตะกอนเก่า ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง และมีแม่น้ำวังไหลผ่านทำให้บริเวณตอนกลางของจังหวัด อำเภอแม่พริก อำเภอเถิน และบางส่วนของอำเภอสบปราบเป็นแหล่งทำเกษตรกรรมตลอดทั้งปี ส่วนบริเวณอำเภอเมือง อำเภอเกาะคา อำเภอแม่ทะ อำเภองาว อำเภอห้างฉัตร และบริเวณตอนกลางของอำเภอแจ้ห่มจะเป็นที่ราบสูงและภูเขาสลับซับซ้อน บริเวณตอนบนและพื้นที่โดยรอบจังหวัด ด้านอำเภอวังเหนือ อำเภอแจ้ห่ม อำเภองาว และบริเวณตอนใต้ของอำเภอแจ้ห่มส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ปกคลุมด้วยผืนป่าอุดมสมบูรณ์อันเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของเมืองลำปาง

ด้วยลักษณะพื้นที่ซึ่งเป็นแอ่งก้นกระทะดังกล่าว จึงทำให้มีอากาศอบอ้าวแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีอากาศแตกต่างกันมากตามฤดูกาล ฤดูหนาวค่อนข้างหนาวจัด ฤดูร้อนยาวนาน

 

ขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย